จากที่คลุกคลีในแวดวงก่อสร้างมาเกือบยี่สิบปี ได้พบกับแนวคิดสำคัญขณะอยู่หน้างาน (on the site) ไม่น้อยเลย
เริ่มต้นจากปีแรกที่ต้องเป็นวิศวกรภาคสนามในส่วนงานติดตั้งระบบไฟฟ้า จากที่เคยเรียนแต่บนโต๊ะ ทำงานคำนวณ จะเขียนแบบในรุ่นที่เรียนตอนนั้น ยังมีก็เพียงไม้สเกล ไม้ฉาก เป็นเครื่องมือวัดเท่านั้น และก็ยังไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์เขียนแบบเลยด้วยซ้ำ
เมื่อมาสัมผัสภาคปฏิบัติของช่าง ตั้งแต่ระดับหัวหน้าช่างประสบการณ์กว่า 20 ปี ไปจนถึงช่างแรงงาน ถึงได้พบกับวิธีที่ใช้กันในหน้างานก่อสร้าง
เครื่องมือวัดในงานก่อสร้างเป็นอย่างไรกัน?
ในแง่มุมของงานติดตั้งท่อร้อยสายไฟ เขาหาแนวระดับกันอย่างไร
เริ่มต้นจากมีช่าง survey มายิงเส้นแนวระดับที่เรียกกันง่ายๆว่าเส้นเมตรให้ ใครจะวัดอะไรจะต้องอ้างอิงไปจากจุดนี้ จากนั้นใครจะเอาไปใช้ที่ระดับเท่าใด ที่ตำแหน่งใด ก็อาศัยการถ่ายระดับไป
เรื่องนี้อาจกลายเป็นนำมะพร้าวห้าวไปขายสวน สำหรับคนอยู่หน้างานมาประจำ แต่สำหรับนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ อาจสนใจและได้ประโยชน์จากเรื่องเล่านี้อยู่บ้าง
คำตอบคือใช้สายยางใส ใส่น้ำเข้าไป ปลายแรกอิงกับเส้นเมตรที่่ช่างสำรวจทำเครื่องหมายให้ไว้ อีกปลายก็ไปถือไว้ใกล้จุดที่ต้องการ จากนั้น ก็ค่อยเอาตลับเมตรวัดออกไป
ส่วนระยะในระนาบ เช่นเดียวกันเริ่มต้น มีเส้นอ้างอิงจากช่าง survery ตีเส้นอ้างอิงไว้ให้ แต่คราวนี้สะดวกขึ้นเพราะวัดจากในระนาบ จึงดึงแนวจากตลับเมตรวัดได้สะดวก ไม่ต้องมีสายยางระดับน้ำให้ระเกะระกะอีก
แน่นอนว่าแล้วถ้าเป็นแนวยาวๆ เขาจะตีเส้นไว้อ้างอิงอย่างไร?
คำตอบคือบักเต้า
ชื่อแสนพิลึกนี้ อุปกรณ์น่าจะมาจากชาวจีนเป็นแน่แท้!!!
อันนี้ผมก็ไม่กล้ายืนยันว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่มีโฟร์แมนรุ่นปู่เล่าให้ฟังว่า เพี้ยนมาจากช่างจีนใส่หมึกไว้ในลูกน้ำเต้า และมีเส้นเชือกบางจุ่มหมึกในน้ำเต้านี้อยู่
มาดูวิธีใช้กัน บางแบบก็เป็นผงสี บางแบบก็เป็นเหมือนหมึก เวลาจะใช้ก็ลากเชือกออกมา ดึงขึงตึงไว้ที่สองจุดอ้างอิงจากที่วัดไว้ แล้วก็ดีดเส้นเชือกนี้ ให้ผงสีหรือหมึกแปะเป็นแนวเส้นบนพื้นที่ตามที่ต้องการ
ส่วนการอ้างอิงระหว่างแนวบนพื้นและฝ้าเพดานก็จะมีอีกสิ่งที่นำมาใช้คือลูกดิ่ง เป็นตุ้มเหล็กผูกเชือก ทิ้งดิ่งไว้อ้างอิงแนวทั้งสองระหว่างกันได้ ที่ทันสมัยหน่อย ก็จะเป็นเครื่องยิงแสงเลเซอร์ถ่ายแนวออกไป
เสียดายที่หาภาพถ่ายพวกนี้ไม่เจอแล้ว จึงไม่มีโอกาสสแกนภาพประกอบมาให้ดู (ย้อนหลังไปถึงตอนยังไม่มีกล้องดิจิตอลกันเลย มีแต่กล้องฟิล์มในตอนโน้น)
มาถึงอีกเหตุการณ์จริง ที่เริ่มใกล้ AutoCAD ขึ้นมาอีกหน่อย?
ผู้เขียนทำงานอยู่ฝ่ายก่อสร้างที่มีผู้คุมงานของเจ้าของโครงการอีกที วันนึงมีเสียงบ่นจากช่างเขียนแบบว่า
ฝ่ายคุมงานที่มักเรียกว่าคอนซัลต์นี้แหละ ตีแบบก่อสร้าง (shop drawing) กลับคืนมา บอกว่าเขียนมาได้ ยังไงระยะบันได ใส่เส้นบอกระยะ (dimension) มาไม่ถูกต้อง ทำไมไปปัดทศนิยมอย่างนั้น หารแบ่งได้เท่าไรก็ใส่มาให้ตรง ให้ละเอียดถึงทศนิยม 4 ตำแหน่ง!!!
หากใครอ่านตั้งแต่ต้นมาถึงตรงจุดนี้ คงพอสรุปได้ว่าใครกันที่น่าจะทำถูกดีแล้ว?
เป้าหมายของแบบ Shop Drawing เอาไปให้ใครใช้ คนที่จะใช้คือช่างที่หน้างาน เครื่องมือวัดของเขามีอะไรบ้าง ลำพังตลับเมตรข้างเอวที่เขาพกอยู่นั้นจะวัดยังไงให้ได้ทศนิยม 4 ตำแหน่ง ที่แบบหน่วยเมตร ก็กลายเป็นถึงระดับหนึ่งในสิบของมิลลิเมตรเลยทีเดียว
ถึงย่อหน้าสุดท้าย แล้ววันนี้คุณเขียนแบบงานก่อสร้างในหน่วยเมตร ด้วยทศนิยมกี่ตำแหน่งกัน? และก็หวนคิดไปถึงภาพเลือนๆ ถึงชั่วโมงแรกของการเรียนแล็บฟิสิกส์ในรั้วมหาวิทยาลัย ทำไมถึงได้ต้องทนฟังวิดีโอเรื่องเลขนัยสำคัญ (Significant number) อยู่เกือบทุกรุ่น ตั้งแต่มีคณะวิศวกรรมศาสตร์กันมา ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น